เย็บกางเกงขอบยางยืดกางเกงบ๊อกเซอร์
ช่วงนี้ผู้เขียนซื้อจักรดึงยางสำหรับทำขอบกางเกงยางยืดมาใหม่ กำลัง เห่อ 555
จะว่าไปแล้วก็รู้สึกสนุกกับการเย็บกางเกงมากกว่าการเย็บเสื้อยืดคอกลม, คอวีที่ทำอยู่ประจำ สงสัยจะเป็นเพราะแปลกใหม่ไม่เคยทำมาก่อน
แรกเริ่มเดิมทีผู้เขียนไม่ได้คิดจะทำกางเกงบ๊อกเซอร์แต่ด้วยเหตุจำเป็นต้องทำช่วยเพื่อนร่วมอาชีพตัดเย็บของผู้เขียนท่านหนึ่ง เห็นพี่ๆ ช่างเย็บที่บ้านทำกางเกงดูน่าสนุกดี ก็เลยหัดทำบ้าง ส่วนเรื่องฝีมือของผู้เขียนนั้นต้องขอบอกก่อนเลยว่าอนุบาลสุดๆ 555 แต่เห็นสนุกดีก็เลยเอามาเล่าสู่เพื่อนๆ ฟัง เผื่อใครจะนำไปประยุกต์ใช้งานตามความคิดสร้างสรรค์ก็ว่ากันไป
การเย็บกางเกงขอบยางยืดแบบกางเกงบ๊อกเซอร์นั้นหลักๆ ใช้จักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมอยู่ไม่กี่ตัวครับ เช่น
จักรโพ้ง
จักรเย็บเข็มเดี่ยวสำหรับเย็บบริเวณเป้ากางเกง
จักรดึงยางยืดขอบกางเกง
จักรลาชาย
ส่วนการเริ่มต้นนั้นก็คงจะเริ่มกันที่เรื่องของแพทเทิ่นหรือต้นแบบสำหรับวาดตัดผ้า โดยแพทเทิ่นกางเกงบ๊อกเซอร์นั้นก็เห็นได้ตามรูป (มือสมัครเล่นขนาดไหน ไม่ต้องถาม ขนาดที่ว่าดูด้านบนด้านล่างไม่ออก จนต้องถามช่างแล้วเขียนติดไว้ที่กระดาษแพทเทิ่นกันลืม 555) โดยผ้าที่นำมาเย็บกางเกงบ๊อกเซอร์นั้นก็จะมีอยู่ 4 ชิ้นเป็นมาตรฐาน คือ หน้า 2 ชิ้นและหลัง 2 ชิ้น
เริ่มเย็บด้วยการโพ้งบริเวณเป้าติดกันทั้ง 2 ชิ้น
แล้วก็เย็บด้านหลังติดกัน 2 ชิ้น
เย็บบริเวณเป้ากางเกงด้วยเข็มเดียว
ต่อมา…ก็ว่าด้วยการเย็บด้านข้างให้ด้านหน้าและหลังติดกัน
เย็บบริเวณหว่างขานิดหนึ่ง
แค่นี้เราก็จะได้กางเกงบ๊อกเซอร์คร่าวๆ ไว้ดูเล่นละ
ต่อจากนั้นก็ถึงคิวการตัดขอบยางยืด ซึ่งยางยืดที่ว่านี้ก็มีหลายขนาดก็สามารถเลือกใส่กันได้ตามใจชอบ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บทั่วไปครับ หาไม่ยาก ราคานั้นก็ว่ากันไปตั้งแต่ม้วนละ 70-100 บาทซึ่งก็ว่ากันไปตามขนาด
ตัดเสร็จก็เย็บยางยืดติดกันด้วยจักรเย็บปกติ แล้วจึงนำมาโพ้งติดกับกางเกงที่เราทำเมื่อซักครู่ โพ้งจนรอบ โดยขั้นตอนนี้คงต้องออกแรงดึงยางกันหน่อยเพราะส่วนเอวของผ้าตัวกางเกงนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่ายางยืดที่เราตัด 2 – 2.5 เท่า (นึกถึงตอนดึงหนังกะติ๊กตอนเด็กๆ เข้าไว้ 555)
แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ต้องใช้จักรดึงยาง โดยสวมเอวกางเกงตามตำแหน่ง จัดสภาพนิดหน่อยแล้วก็ปล่อยให้จักรทำงาน อาจจะเป็นเพราะผู้เขียนชอบเสียงจักรดึงยางด้วยแหละ ก็เลยชอบขั้นตอนนี้ที่สุด
จักรดึงยางที่ใช้ทำกางเกงบ๊อกเซอร์ตัวนี้ จะลำบากก็ตอนเปลี่ยนด้ายนี่แหละ -__-!!! ด้ายเย็บ 8 เส้น (บน 4 ล่างอีก 4 เส้น) ร้อยด้ายกันเมื่อยเลยทีเดียวเวลาเปลี่ยนสีด้ายแต่ละที โดยเฉพาะคนที่ขี้เกียจเปลี่ยนด้ายแบบผู้เขียนด้วยแล้วหละก็ ลำบากยากเข็ญเป็นพิเศษเลยทีเดียว (เพื่อนๆ ดูเอาเองเถอะ 555)
แล้วก็ปิดท้ายด้วยการลาชายกางเกงนิดหนึ่ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี แฮ่ะๆ ผู้เขียนว่าเย็บกางเกงบ๊อกเซอร์สนุกดีนะ ก็เลยว่าเล่าสู่เพื่อนๆ ฟัง
ปล* จดหมายน้อยถึงเพื่อนๆ ที่ถามเรื่องการรับเย็บกางเกงบ๊อกเซอร์ ตอนนี้ที่ร้านยังไม่ได้มีบริการเย็บกางเกงบ๊อกเซอร์แบบเป็นทางการครับ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย หากในอนาคตเปิดรับเย็บกางเกงบ๊อกเซอร์แล้วก็จะแจ้งให้ทราบทั่วกันครับ
ปล* จดหมายน้อยฉบับที่ 2 ถึงกลุ่มลูกค้าที่ถามถึงงานขายส่งกางเกงบ๊อกเซอร์ของที่ร้าน ก็ขออนุญาตเลื่อนเป็นช่วงสิ้นเดือน 7 ครับผม ก็คงเริ่มทยอยออกมาจำหน่ายช่วงๆ นั้นครับ โดยจะเริ่มจากกางเกงบ๊อกเซอร์ที่ทำจากผ้าคอตต้อน 100% ก่อนเป็นอันดับแรกก่อนที่จะไปทำผ้าผสมที่เป็นลายพิมพ์ เพราะผู้เขียนเห็นว่าสินค้าประเภทกางเกงบ๊อกเซอร์ในตลาดที่ทำจากผ้าคอตต้อน 100% นั้นแทบไม่มีเลย เห็นแต่ผ้าผสม TK, ผ้า TC บ้างที่มาพร้อมกับลายพิมพ์ (ถึงแม้ว่าป้ายจะติดเป็น 100% Cotton ก็ตามที 555)
——
———
ลักษณะการหดตัวของผ้าและเสื้อยืด
ช่วงนี้ลูกค้าจากย่านรามคำแหง, ลาดพร้าว, มีนบุรี, นวมินทร์ แวะมาซื้อเสื้อยืดที่ร้านผู้เขียนเยอะเป็นพิเศษ น่าจะเป็นเพราะใกล้ช่วงเทศกาล ลูกค้ามาซื้อเสื้อเตรียมตัวไปเที่ยวกัน อิ อิ อิ (น่าอิจฉาเนาะ ส่วนผู้เขียนอยู่เฝ้า กทม กลัวหาย -__-!!!)
ลูกค้าที่มาซื้อเสื้อยืดที่ร้านมักจะถามคำถามยอดนิยมคล้ายๆ กันก่อนซื้อเช่นว่า “ผ้าหดไหม?”
ผู้เขียนก็มักจะตอบด้วยความซื่อบื้อและความสัตย์จริงว่า “หดครับ!”
ได้ยินแบบนี้ บ้างก็ซื้อ บ้างก็เปลี่ยนใจ 555
ก็มันจริงนี่นา ตะเอง!
——–
——–
ว่ากันตามประสบกาม เอ้ย! ประสบการณ์การของเขียนแล้วผ้าทุกอย่างหดตัวหมดครับ
ผ้าอย่างเดียวที่ไม่หดคือ “ผ้าป่า (สามัคคี)”
คงไม่ต้องสาธยายถึงลักษณะของผ้าป่าที่มาเป็นซองๆ วางอยู่บนโต๊ะที่ทำงานของเพื่อนๆ นะครับ 555 เป็นซองแบนๆ เนื้อละเอียด มีประทับตราวัดเพื่อความสวยงามและขลัง พร้อมทั้งอัดแน่นด้วยเนื้อบุญอยู่ด้านในซอง 555 ผ้าแบบนี้ไม่มีหดครับ! มีแต่เพิ่ม (ไม่เชื่อลองใส่ผ้าป่าซักซอง เดี๋ยววันถัดมาจะขยายตัวเพิ่มเป็น 2 ซองวางอยู่บนโต๊ะทำงานเพื่อนๆ 555 ลองมาแล้ว!)
นอกนั้นผ้ามีการหดตัวครับ
ผ้าเส้นใยใหญ่กว่าก็มีอัตราการหดตัวน้อยกว่าผ้าเส้นใยเล็กกว่า
ผ้าเส้นใยธรรมชาติคอตต้อนก็หดตัวน้อยกว่าเส้นใยสังเคราะห์
ผ้าเส้นใยสังเคราะห์ปกติทั่วไปก็หดน้อยกว่าผ้าเส้นใยสังเคราะห์สารยืดหรือพวก spandex ต่างๆ เป็นต้น
เช่นเสื้อยืดผ้าคอตต้อน100% เบอร์ 20 ซึ่งทอด้วยเส้นใยที่ใหญ่กว่ามีอัตราการหดตัวน้อยกว่าเสื้อยืดผ้าคอตต้อน100% เบอร์ 32 ที่ใช้เส้นด้ายเบอร์เล็กกว่า (เบอร์เส้นด้ายยิ่งมาก เส้นด้ายยิ่งเล็ก)
เสื้อยืดผ้า TK ที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์โพลี 100% ก็มีอัตราการหดตัวมากกว่าเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายธรรมชาติคอตต้อน 100% เป็นต้น
ครั้นจะบอกว่าผ้าไม่หดนั่นก็ดูจะไม่ซื่อสัตย์ไปหน่อยนะตัวเธอว์
ซึ่งถ้าเรามาดูหลักความจริงตามเหตุผลแล้ว การหดตัวของผ้าส่วนใหญ่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่รับได้
สาเหตุการหดนั้นก็อาจจะมาจากหลายๆ ปัจจัยหลายๆ เหตุผล เช่น
ลักษณะเส้นใย – เป็นเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์? (เส้นใยสังเคราะห์ก็คือพลาสติกดีๆนี่แหละแต่ผ่านกรรมวิธีการผลิตอันสลับซับซ้อนผสมสารพิเศษต่างๆ รีด กรอง หลายรอบจนออกมาเป็นเส้นใยสำหรับกิจกรรมสิ่งทอ)
ขบวนการผลิต – การทอกี่รอบ? กี่กรัมต่อตารางฟุต? ต่างๆ นาๆ บางครั้งมองภายนอกเหมือนกันทั้งลักษณะผ้าและความยาวแต่เครื่องจักรทอผ้าสมัยนี้พัฒนาไปมากจนมีรูปแบบการทำงานที่เลือกได้ว่าใช้ความหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน (รายละเอียดเชิงลึกว่ากันอีกทีนะจ๊ะ ตัวเธอว์) หรือการอบหลังจากย้อมสี ต่างๆ เป็นต้น
อุณหภูมิสภาพแวดล้อม – ร้อน เย็น? (ขนาดไม้เนื้อแข็งยังหดตัวนับประสาอะไรกับผ้า)
การตัดเย็บ – มีการเผื่ออัตราการหดมากน้อยแค่ไหน? ฝีเข็มเป็นยังไง?
ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่ออัตราการหดของผ้าครับ
การหดตัวของผ้านั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติครับ มีหดบ้างซึ่งก็ว่ากันตามลักษณะของผ้าแต่ละชนิด โดยทั่วๆไปแล้วถือว่ารับได้ ไม่ได้เลยร้ายอะไรเลย เป็นเรื่องที่ทราบกันดีของฝั่งผู้ผลิตเสื้อผ้าและโรงงานทอผ้า ผ้าหดมากน้อยก็ว่ากันไปตามเหตุผล เสื้อที่เราใส่ๆอยู่ก็หด แต่อาจจะเล็กน้อยจนเราไม่รู้สึกตัวก็เป็นได้
แต่….. (ทำคิ้วขมวด หน้าตาจริงจังกับชีวิต!)
ถ้าหากเพื่อนๆ ซื้อผ้ามาจากโรงงานมาตัดเย็บเสื้อผ้าแล้วหดหนักถึงขั้นตัดชุดแซคแล้วผ้าหดเหลือเท่าเสื้อครอปครึ่งตัวหละก็น่ะ!
บอกพิกัดที่ตั้งและเลขบัญชีมาเลย!
พร้อมโอน!
จะซื้อมาตัดเสื้อกล้ามให้น้องเมียกับเพื่อนน้องเมียใส่เส้นน้ำสงกรานต์หน้าบ้านปีนี้ 555
หามานานผ้าสเปคเทพขนาดนั้น 555 -__-!!!
ส่วนวิธีแก้ไข ป้องกันหรือลดอาการหดของผ้านั้นก็มีหลายวิธีครับ ว่ากันไปตามลักษณะการทำงาน ซึ่งในส่วนของผู้เขียนที่เป็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อยืดนั้นก็มีวิธีทำงานหรือวิธีแก้ปัญหาในแบบของฝั่งผลิตเอง ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร
เช่น
ถ้าผ้าบางหรือยืดก็จะตัดเผื่อหดมากหน่อย
ถ้ารู้ตัวว่าทำงานกับผ้าบาง เช่น ฮานาโกะ ชีฟอง (บ้างไม่ฟองบ้าง) ที่บางมากๆ ยืดมากๆ ก็อาจจะปูผ้าแล้วทิ้งค้างไว้ซัก 1 คืนเพื่อให้ผ้าอยู่ตัว คงสภาพ ประมาณว่า หดเต็มที่พรุ่งนี้เจอกัน อะไรทำนองนั้น!
หรือถ้าทำงานกับผ้าที่บางๆ พริ้วๆ ยืดๆ (เย็บยากๆ นั่นแหละ!) ก็อาจจะต้องทำแพทเทิ่นพิเศษที่เผื่อการหดของผ้าและการเย็บโพ้งกินผ้ามากขึ้นกว่าปกติ เช่นจาก ½ นิ้วก็เป็น 6/8 นิ้วอะไรทำนองนั้นซึ่งก็ว่ากันไปตามลักษณะของผ้า
สรุปเลยละกัน (ง่วงนอนละ -__-!!!)
โดยรวมสำหรับเสื้อผ้าทั่วๆ ไป เสื้อยืด เสื้อโปโลแล้วก็มีการหดตัวบ้างแต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นปัญหาหลัก
รับงานสกรีนเสื้อยืดราคาย่อมเยาว์สำหรับเสื้อยืดทั่วไปและงานโรงงานบริษัท
โดยปกติแล้วผู้เขียนทำงานสกรีนเสื้อยืดอยู่เป็นเนื่องๆ ซึ่งจะจำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าขาประจำและงานสั่งตัดเย็บเสื้อยืดเฉพาะภายในบ้านเพราะง่ายต่อการจัดการและขั้นตอนทำงานที่เบ็ดเสร็จ
ด้วยกำลังคนที่มีจำกัดและจำนวนงานที่พอเหมาะเลยไม่ค่อยจะเปิดรับงานจากภายนอกเท่าไหร่ เพราะถ้าจะพูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คืองานสกรีนเป็นงานที่มีรายละเอียดและขั้นตอนค่อนข้างเยอะ เริ่มตั้งแต่ออกแบบ แก้ไขกลับไปกลับมา เรื่องสีสกรีน ตกลงราคาไล่ไปจนถึงการอัดบลอคสกรีน
โดยส่วนตัวผู้เขียนแล้วถือว่ารายละเอียดค่อนข้างเยอะ!
จำนวนน้อย 20-30 ตัว หรือจำนวนมาก 1,000-2,000 ขั้นตอนทำงานแทบจะไม่ต่างกันเลย
เลยไม่ค่อยเปิดรับงานสกรีนจากภายนอกเท่าไหร่
———-
———
แต่หลังๆงานด้านสกรีนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ตามฐานลูกค้าและฤดูการขายเป็นสาเหตุให้ต้องขยายแผนกสกรีนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง -__-!!! (หน่อยหนึ่งจริงๆ นะ พื้นที่มีจำกัด 555) ประกอบกับมีกำลังคนและแรงงานมาช่วยทำงานด้านสกรีนเลยพอมีเหลือทรัพยากรพอจะรับงานจากภายนอกได้บ้าง
เลยเปิดรับงานสกรีนเสื้อยืดเพิ่มอีกส่วนหนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการจัดการให้กับลูกค้าที่ต้องการคู่ค้าการทำงานที่เบ็ดเสร็จที่เดียว
สนใจสอบถามรายละเอียดค่าบริการงานด้านสกรีนและงานตัดเย็บเสื้อผ้า เสื้อยืดก็สามารถติดต่อได้ที่
—————-
—————-
เพื่อง่ายต่อการทำงานควรจะมีรูปประกอบ, ตัวอย่าง หรือรูปวาดคร่าวๆ ส่งให้ดูครับ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจและการทำงาน ^_^
** ปกติผู้เขียนจะไม่ค่อยชอบการถ่ายรูป แต่ก็ไม่นึกไม่ฝันว่าวันหนึ่งต้องเอารูปจากบทสนทนาทาง Line กับลูกค้าหลายๆ ท่านขึ้นมาดู -___-!!!**
ไหนๆ ก็ดึงรูปขึ้นมาแล้ว ก็ขออนุญาตใช้โอกาสนี้ขอบคุณย้อนหลัง หุหุหุ! ลูกค้าผู้มีอุปการะคุณทุกท่านที่ใช้บริการงานเสื้อและสกรีนของผู้เขียน และก็ขออภัยอีกหลายๆ ท่านที่หารูปไม่เจอ
วิธีเลือกผ้าพิมพ์ลายสำหรับตัดเย็บเสื้อยืดเพื่อขายส่ง
พักนี้มีเพื่อนๆ หลายท่านซื้อผ้าแบบพิมพ์ลายมาตัดเย็บเสื้อยืดที่ร้านเพื่อทำการขายส่งเพราะส่วนต่างกำไรค่อนข้างดีและความนิยมของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
————-
————-
*** ขโมยภาพเสื้อลูกค้ามา ไม่ใช่เสื้อของที่ร้านนะ อุ อุ อุ ไม่ต้องถามซื้อนะ! ***
ผ้าพิมพ์ลายเป็นยังไงเหรอ?
เป็นผ้าผืนแบบที่พิมพ์ลายทั้งผืน! ไม่ใช่สกรีนนะ!
ผ้าพิมพ์ลายค่อนข้างจะได้รับความนิยมทั้งจากฝั่งขายส่งและขายปลีกเพราะเนื่องจากราคาผ้าไม่แพง ผสมกับความน่ารักของลวดลายบนตัวผ้าที่เป็นจุดขาย ไม่ต้องสกรีนมากมายก็พร้อมขายได้ทันทีทำให้การนำผ้าพิมพ์ลายมาทำเสื้อยืดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ฝั่งผลิตตัดเย็บเสื้อยืดแบบผู้เขียนก็ชอบ 555 เพราะไม่ต้องสกรีนอะไรเพิ่มเติม ตัดเย็บเสื้อยืดเสร็จเป็นตัวก็พร้อมขายได้เลย อิอิอิ!
การเลือกผ้าพิมพ์ลายมาทำการตัดเย็บเสื้อยืดเพื่อขายปลีกขายส่งนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายุ่งยากก็มีบ้างพอสมควร ประเด็นสำคัญของการเลือกผ้าพิมพ์ลายมาตัดเย็บเสื้อยืดนั้นอยู่ที่การเลือกลายผ้าและเลือกเนื้อผ้าให้สอดคล้องกับตลาดที่เราต้องการจะเสนอขาย
เช่น ขายเสื้อผ้าเด็กก็ต้องลายพิมพ์แบบน่ารักๆ
ขายกลุ่มวันรุ่นก็ต้องลวดลายแบบตัวกาตูนทันสมัย ที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้นๆ
ที่สำคัญที่สุดคือดูคุณภาพของเนื้อผ้าไม่ให้แย่จนเกินไป เพราะถ้าจะพูดกันตามตรงคือผ้าพิมพ์ลายกว่าครึ่งคือผ้าที่ผ้าสีล้วนปกติแล้วไม่ได้คุณภาพเลยหาวิธีระบายสู่ตลาดด้วยการพิมพ์ลายทับลงไปให้ดูสวยงามใช้งานได้
ก็ไม่ใช่ว่าทั้งหมดจะแย่เสมอไป
เพราะบางร้านหรือบางโรงงานใช้ผ้าคุณภาพดีปกติแล้วพิมพ์ลายเพื่อความสวยงามเพิ่มจุดขาย สังเกตง่ายๆว่าผ้าจะดูสีสด ใหม่ และราคาค่อนข้างสมเหตุผล (คือมีราคาแพงกว่าผ้าพิมพ์ลายแบบโล๊ะมา) หากจะเปิดตลาดค้าขายด้วยเสื้อยืดผ้าพิมพ์ลายเสื้อยืดราคาขายส่งแล้วก็ควรจะเสียเวลาลงพื้นที่ไปดูสภาพและคุณภาพผ้าแต่ละร้าน และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับร้านที่ยอมให้เราตรวจผ้าเพื่อดูตำหนิหรือตรวจสอบคุณภาพผ้าก่อนซื้อ เพราะบางร้านที่ใช้ผ้าโล๊ะมาพิมพ์ลาย ตำหนิจะมีมากก็มักจะไม่ค่อยชอบให้คนซื้อตรวจดูตำหนิ
คนขายหน้างอ ทำหน้าเซ็งๆ ก็อย่าไปสนใจ เปิดดูผ้า ตรวจผ้าคร่าวๆ ก่อนซื้อเป็นดีที่สุดครับ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ต้องรับผิดชอบ คนที่ต้องตอบคำถามลูกค้า หรืออาจจะถึงขั้นคืนเงินให้ลูกค้าเวลาของไม่ดีก็คือเราเอง!
ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่าย เป็นต้นทุน ซึ่งเราควรใส่ใจเป็นพิเศษกับขั้นตอนการเลือกซื้อผ้าครับ
อยากให้เพื่อนๆ ใส่ใจรายละเอียดของขั้นตอนการเลือกซื้อผ้าครับ
ทดสอบสีตก
สำหรับฝั่งผู้ผลิตเสื้อผ้าหรือตัดเย็บเสื้อผ้านั้นการตรวจสอบมาตรฐานของเนื้อผ้าและสีย้อมเป็นระยะๆนั้นเป็นเรื่องจำเป็นถึงแม้ว่าโรงงานผ้าหรือร้านผ้าที่ใช้บริการอยู่จะค้าขายกันอยู่ประจำก็ตามที แต่การตรวจสอบคุณภาพสีและเนื้อผ้าถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อให้ลูกค้าได้รับสินค้าตามที่ต้องการด้วยคุณภาพสูงสุดของเพดานงบประมาณ
การทดสอบคุณภาพมาตรฐานของกระบวนการย้อมและคุณภาพของสีย้อมผ้านั้นทำได้ไม่ยากครับ ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนจนถึงขั้นต้องเรียก สวทช. หรือแอบไปดูโรงงานย้อมตอนทำงานแต่อย่างใด เพียงแต่เพื่อนๆ มีขวดพลาสติก, ผงซักฟอก, น้ำเปล่าและมืออันนิ่มนวลของเพื่อนๆแล้วหละก็เป็นอันเพียงพอสำหรับการทดสอบ
ไม่ยากเลย! เพียงแค่เทน้ำใส่ขวดพลาสติก หาเศษผ้ายัดลงไปแล้วตามด้วยผงซักฟอก ซึ่งจะยี่ห้อไหนก็แล้วแต่ภรรยาท่านจะโปรด -__-!!! (พวกโดนเมียใช้ซักผ้าจะรู้ดีว่ายี่ห้อไหนเจ๋ง!) แล้วก็ดูผลการทดสอบเป็นระยะๆ หากสีตกภายใน 5-10นาทีแรกที่แช่ก็ถือว่าไม่ผ่าน แต่หากแช่ไว้เป็นชั่วโมงๆ แล้วเริ่มมีการตกบ้าง น้ำเริ่มเปลี่ยนสีบ้างนั้นถือเป็นเรื่องปกติของสีย้อมผ้า
จริงๆ แล้วการตกของสีมีอยู่ในผ้าเกือบทุกชนิดครับ เพียงแต่จะตกมากตกน้อยก็ตามแต่สีจะเกาะเนื้อผ้าแน่นแค่ไหน สีคุณภาพดีหน่อยก็มีราคาแพงเป็นธรรมดาแต่คุณสมบัติก็พิเศษตามเช่นกัน โดยสีย้อมผ้านั้นก็แบ่งกันเป็นหลายลักษณะหลากหลายคุณภาพซึ่งก็เป็นที่รู้กันในวงการย้อมและร้านค้าผ้า
หลายๆ ร้านค้าที่เห็นกันอยู่ตามท้องตลาดลดต้นทุนเพื่อเหตุผลของการแข่งขันด้วยการลดคุณภาพของสีเพื่อประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีลดต้นทุนที่นิยมกันในกลุ่มร้านผ้า (บางร้านนะ อย่าเหมารวม! บางร้านก็คุณภาพชั้นหนึ่งชนิดที่สั่งสีพิเศษจากดาวอังคาร) เพราะฉะนั้นการตรวจสอบผ้าที่ซื้อมานั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง หรือหากเป็นไปได้ยอมเสียเวลาขอเศษผ้ามาแช่น้ำเพื่อดูคุณภาพของสีก็ดีไม่น้อยครับ
คุณภาพของเสื้อยืด
ลูกค้าของผู้เขียนท่านหนึ่งถามมาว่า “เสื้อยืดคุณภาพดี ดูจากตรงไหน? มันดูเหมือนๆ กันหมด!”
เออ! จริงของเค้าแฮะ 555 -___-!!! ขนาดผู้เขียนยังแยกลำบากเลย -___-!!!
ถ้าจะให้ตอบคร่าวๆ ตามประสาช่างเย็บผ้า ก็พอจะตอบมั่วๆ ได้ดังนี้ครับ
การดูคุณภาพของเสื้อยืดนั้นหลักๆ ก็ดูกันได้อยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ
1. แน่นอนหละครับว่าเราดูกันทีเนื้อผ้า ซึ่งก็ว่ากันไปตามความชอบ ซึ่งเนื้อผ้าสำหรับสำเสื้อยืดเองก็แบ่งออกไปได้หลากหลายมากมายครับ เช่น ผ้าฝ้ายคอตต้อน, ผ้าผสม TC, ผ้าโพลีเอสเตอร์ TK, ผ้ายืด Spandex…..เยอะอ่ะ! ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบและความเหมาะสมสำหรับเสื้อผ้าประเภทนั้นๆ ยิ่งเส้นด้ายทอละเอียดเท่าไหร่ก็หมายถึงคุณภาพของเนื้อผ้ามากเท่านั้น ผ้าที่ดีคือผ้าที่ใช้กับงานเย็บประเภทนั้นๆได้อย่างเหมาะสมและถูกประเภท
2. การตัดเย็บซึ่งมีความสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากัน เนื้อผ้าดีแต่การตัดเย็บแย่ ก็พาลจะลดคุณค่าและราคาของเสื้อผ้าตัวนั้นๆ ลงไปมากทีเดียว เสื้อยืดที่ดีมีคุณภาพในการตัดเย็บเสื้อยืดนั้นดูได้ไม่ยาก เพราะมีจุดสังเกตไม่กี่จุดครับ (555 ง่ายว่าเสื้อโปโลเยอะ!)
———-
———–
2.1 ลาลูกโซ่บริเวณด้านหลังคอเสื้อเป็นจุดหนึ่งที่ผู้เขียนอยากให้เพื่อนๆ สังเกตเพราะการเย็บลาลูกโซ่ทับเส้นโพ้งบริเวณคอและไหล่ด้านในถือเป็นการเพิ่มทั้งความสวยงาม, ความเรียบร้อย (ปกปิดความขี้เหล่ตอนโพ้งคอเสื้อ 555) และเพิ่มความทนทานของอายุเสื้อตัวนั้นๆ ได้ไปพร้อมๆ กัน เสื้อยืดหลายๆ ยี่ห้อลดต้นทุนลงด้วยการไม่เย็บลาลูกโซ่ เพราะประหยัดทั้งวัตถุดิบและเวลาในการทำงาน
2.2 คิ้วรอบวงคอหรือการเย็บย้ำบริเวณรอบคอเสื้อเพื่อเพิ่มความทนทาน, ความเรียบร้อยของเสื้อตัวนั้นๆ การคิ้วนั้นไม่จำกัดว่าการคิ้วด้วยการเย็บเข็มเดี่ยวแบบทั่วๆ ไปหรือการลารอบคอก็แล้วแต่ชอบ ก็ถือเป็นการเพิ่มความทนทานและความเรียบร้อยให้กับเสื้อยืดตัวนั้นๆ ได้ดีทีเดียว
2.3 รอยต่อระหว่างวงแขนเสื้อและข้างลำตัว ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่ค่อยมีใครมอง แต่แน่นอนหละว่าช่างเย็บที่ละเอียดเอาใจใส่มักจะใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นบริเวณรอยต่อใต้วงแขนด้วยเช่นกัน
2.4 รอยเย็บชายเสื้อด้านในหรือที่ภาษาช่างเย็บผ้าเรียกว่าการเย็บลาแขน, ลาชาย (อย่างถามนะว่าทำไมต้องเรียกแบบนั้นเพราะผู้เขียนก็ไม่รู้ เค้าว่าไงก็ว่าตามเค้า อย่าดื้อดิ! 555) การลาชายและลาแขนเสื้อที่ดีนั้นควรมีเศษผ้าเลยขอบการลามาเพียงเล็กน้อยจึงจะดูเรียบร้อย
2.5 การเย็บฝีเข็ม ยิ่งละเอียดก็จะยิ่งแสดงถึงคุณภาพการตัดเย็บของเสื้อยืดตัวนั้นๆ แต่การเข็มฝีเข็มอย่างพอดีๆ คงจะดีที่สุดเพราะฝีเข็มถี่ไปมักจะเปลืองด้าย 555 และทำให้เกิดการย่นได้
เลือกซื้อผ้าจากร้านค้าที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
นานๆ โผล่มาที 555
ขออภัยจริงๆครับ งานเยอะก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า
จริงๆ ก็ไม่มีอะไรจะมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังก็คงจะได้แค่บอกเล่าเก้าสิบกับปัญหาการทำงานในแต่ละวันที่ผู้เขียนต้องเผชิญและคอยแก้ปัญหากันไปตามแต่ละเรื่อง
การเล่าสู่กันฟังก็ดีอย่าง ช่วยลดปัญหาความผิดพลาดได้ระดับหนึ่ง
วันนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของการเลือกซื้อผ้าจากร้านค้าที่ยุติธรรมไม่เอาเปรียบผู้ซื้ออย่างเราๆ ท่านๆ (จริงๆ เค้าก็ไม่ได้อยากเอาเปรียบพวกเรานักหรอก เพียงแต่พวกเรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งแถวบ้านเรียก “พลาด!” 555)
อย่างที่เราๆ ท่านๆเห็นนั้นว่าร้านขายผ้าสำหรับนำมาตัดเย็บเสื้อยืด เสื้อโปโล หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มอะไรก็แล้วแต่นั้น มีมากมายหลายร้อยร้าน แต่พอดูดีๆแล้ว เลือกเฟ้นแล้วก็ปรากฏว่ามีไม่กี่ร้านหรอกที่คุยกันถูกชะตา ค้าขายไปกันได้
มีเพื่อนๆ มาบ่น มาเล่าให้ฟังกับปัญหาเรื่องร้านผ้า จะไม่นำมาเป็นกรณีศึกษาก็ไม่ได้ จะว่าไปแล้วผู้เขียนเองก็เป็นมือสมัครเล่นในการเลือกร้านผ้าแต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องผ้าเบื้องต้นนั้นผู้เขียนก็อยากแนะนำว่า
1.พยายามหลีกเลี่ยงร้านขายผ้าที่รับซื้อผ้าโล๊ะสต๊อกหรือรับซื้อขายผ้าสต๊อกจากโรงงานอะไรทำนองนั้น เพราะร้านขายผ้าส่วนใหญ่ที่รับซื้อผ้าโล๊ะ, ผ้าสต๊อกนั้นก็จะนำผ้ามาวนเวียนขายซื้อสลับสับเปลี่ยนกันไป (ไม่ใช่ทั้งหมดนะ! อย่าเหมารวม ผู้เขียนพาลจะโดนด่าเอา) ขึ้นชื่อว่าผ้าเหมา, ผ้าโละสต๊อกหรืออะไรทำนองนั้นก็มักจะมีจุดเด่นเรื่องราคาที่ถูกกว่าปกติของตลาด แต่ก็มีปัญหาติดมาด้วยเสมอๆ เช่นว่าอาจจะไม่ผ่านการตรวจคุณภาพเลยเทขาย, มีตำหนิ, ทำรอบเดียวไม่มีการทำซ้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งปัญหาจากผ้าเหล่านี้ก็อาจจะตกเป็นของผู้ซื้อได้ในภายหลัง
2.ไม่ควรซื้อผ้าที่ราคาถูกเกินไป อย่าเอาแต่ถูกอย่างเดียว หากเพื่อนๆ ผู้อ่าน (หรือไม่อ่านก็แล้วแต่ 555!) ต้องการซื้อผ้าเพื่อนำมาตัดเย็บเสื้อยืดหรือโปโลแล้วหละก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาราคาจากตลาดให้ดีเสียก่อนที่จะซื้อผ้าเพราะหากว่าถูกจากราคาขายปกติทั่วๆไปแล้วหละก็มักจะมีปัญหาอะไรซักอย่าง ไม่งั้นก็คงไม่ถูกกว่าราคาขายทั่วไป พึงระลึกเสมอว่า “ของถูกไม่ค่อยดี ของฟรีไม่เคยเห็น” เลวร้ายซักหน่อยก็เจอของไม่ดีราคาแพง ซึ่งน่าเจ็บใจเป็นอย่างมากสำหรับผู้ซื้อที่อยากค้าๆขายๆ อย่างเราท่านๆ (รวมถึงผู้เขียนด้วย แฮ่ะๆ)
3.ควรจะซื้อผ้าจากร้านค้าที่รับซื้อคืนเวลาผ้ามีปัญหา (ปัญหาที่สมเหตุสมผลนะ ไม่ใช่ปัญหาอีลุ่ยฉุยแฉก -__-!!!) ขึ้นชื่อว่าผ้านั้นการตรวจสอบมักจะลำบากเสมอ (แม้กระทั่งกับโรงงานใหญ่ๆ ที่ใช้เครื่องตรวจผ้าฉายไฟส่องทีละพับๆ ก็ตามทีแล้วนับประสาอะไรกับร้านตัดเย็บเสื้อยืดเล็กๆ อย่างเราๆท่านๆ) เพราะห่อพับกันอย่างมิดชิด พับกันอย่างเรียบร้อยดูดีมีสกุลพร้อมที่จะจำหน่ายให้พวกเรา เลยทำให้ตรวจสอบหรือตรวจดูทำได้ลำบาก ได้แต่ดูผิวเผินและต้องฝากความหวังไว้กับความน่าเชื่อถือของร้าน และกว่าจะรู้ว่าผ้ามีปัญหานั้นก็ถึงโต๊ะตัดผ้าแล้ว หรือบางทีตัดไปแล้วเกินครึ่งถึงจะรู้ว่าผ้ามีปัญหา เช่นรอยด่างจากการย้อม, ผ้าเป็นรูเยอะเกินกว่าเหตุ, รอบขีดข่วนที่มีรอยยาวตามแนวผ้า
** ปล. รูปไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบทความเลย แค่เห็นว่าสีสวยดี 5 5 5 **
หากเพื่อนๆ อยากทำการค้า, อยากขายเสื้อผ้า, ขายเสื้อยืด, อยากตัดเย็บเสื้อผ้าขายสร้างยี่ห้อ (แบรนด์) ของตัวเองแล้วหละก็ ยอมเสียเวลาซักนิด ใจเย็นซักหน่อยเพื่อผลระยะยาวและลดปัญหา ลงพื้นที่ไปดูร้านค้าเพื่อเลือกร้านขายผ้าที่บริการเราอย่างยุติธรรมกับเรา ไม่ฉวยโอกาสจากความไร้เดียงสาของผู้ซื้ออย่างเราๆ ท่านๆ เอาเปรียบเรื่องราคาหรือคุณภาพ
อย่าขี้เกียจเอาแต่ง่ายเข้าว่า -__-!!! เจอปัญหากันมาเยอะละ!
เคารพและเป็นห่วงเพื่อนๆ ทุกคน
โอ
วิธีหาตลาดเพิ่มยอดขายเสื้อยืดตอนที่ 1 : เพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์
พักนี้ไม่ค่อยมีบทความอะไรมาสื่อสารกับเพื่อนๆ มากนัก สาเหตุก็คงเป็นเพราะเรื่องงานตัดเย็บเสื้อยืดและงานสกรีนเสื้อยืดที่เยอะขึ้นๆ ตามกาลเวลา
ประโยคคำถามที่ผู้เขียนได้รับจากเพื่อนๆ ช่วงนี้ก็คงจะไม่พ้น
“ทำยังไงถึงจะสามารถหาตลาดเพิ่มยอดขายเสื้อยืดได้?” หรือ “ทำยังไงให้ขายเสื้อยืดให้ได้เยอะๆ”
-___-!!! เครียดเลยนะเจอคำถามนี้ (เพราะถ้ารู้ผู้เขียนคงรวยไปแล้ว 555)
ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นกันไป
(เหมือนเดิมอ่ะ! รูปประกอบไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเล้ยยย แค่ไม่อยากให้มีแต่ตัวหนังสือ -__-!!!)
อุตส่าถามมา จะไม่ตอบก็ผิดวิสัยผู้เขียนทั้งจะเสียน้ำใจคนถาม
ผู้เขียนก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบอาจารย์หลายๆ ท่านที่เห็นทางทีวี ชีวิตนี้ก็ยังลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ตามประสา จะโชคดีหน่อยก็ตรงที่ได้พูดคุยค้าขายกับผู้คนมากหน้าหลายตา (ไม่ใช่สัตว์ประหลาดนะ -__-!!!) ก็เลยพอจะมีเรื่องมาเล่าสู่เพื่อนๆ แลกเปลี่ยนความรู้กันได้บ้าง
เอาหละโม้มานาน เข้าเรื่องกันดีกว่า
ลูกค้าของผู้เขียนท่านหนึ่งที่มาใช้บริการตัดเย็บเสื้อยืด อาศัยที่ตัวเองชอบวาดรูป ระยุกต์มาวาดรูปในคอมฯ แล้ววาดรูปเหมือนให้กับลูกค้าที่เป็นนักศึกษาหรือคู่รักที่กำลังหวานแววแบบเสื้อคู่อะไรทำนองนั้น วาดรูปเหมือนเป็นตัวการ์ตูนน่ารักๆ ชนิดที่ว่ามีตัวเดียวในโลกว่างั้นเถอะ สร้างเอกลักษณ์ให้ตัวสินค้าที่เป็นเสื้อยืด แล้วก็ใช้วิธีรีดร้อน (Heat Transfer) ลงบนเสื้อ หรือใช้เครื่องสกรีนลงบนผ้าโดยตรง สร้างส่วนต่างของราคา (Margin) ได้เป็นอย่างดี จากสกรีนเสื้อปกติที่ได้กำไร 40-50 บาทต่อตัวกลายเป็นกำไร 200-250 บาทต่อตัวด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่คิดเอกลักษณ์ให้ตัวสินค้า
(เหมือนเดิมอ่ะ! รูปประกอบไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเล้ยยย แค่ไม่อยากให้มีแต่ตัวหนังสือ -__-!!!)
แถมปัจจุบันยังมีรูปแบบการขายที่พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการขายเสื้อยืดรูปการ์ตูนเหมือนควบคู่ไปกับการขายสินค้าที่ระลึกงานวันรับปริญญาเช่นตุ๊กตาหรือพัดที่มีรูปการ์ตูนเหมือนของลูกค้ารายนั้นๆ
นับว่าขายดีเลยทีเดียวสำหรับการเพิ่มยอดขายเสื้อยืดด้วยความคิดสร้างสรรค์หาเอกลักษณ์ให้ตัวสินค้าวิธีนี้
(เหมือนเดิมอ่ะ! รูปประกอบไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเล้ยยย แค่ไม่อยากให้มีแต่ตัวหนังสือ -__-!!!)
หากเพื่อนๆ ท่านไหนจะลองทำหรือประยุกต์วิธีให้สอดคล้องกับความสามารถของตนเองก็ไม่ว่ากันครับ เพราะตลาดเสื้อยืดยังสามารถต่อยอดกันไปได้อีกเยอะครับ ปัจจุบันการตลาดการขายเสื้อยืดมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคิดกลยุทธการขายที่แปลกใหม่เพื่อรักษาตลาดและฐานลูกค้าไว้
ฤดูขายและช่วงเวลางานขายเสื้อผ้า
กล่าวสวัสดีเพื่อนๆ หลังจากที่หายหัวไปนาน (อิ อิ!)
และแล้วฤดูงานตัดเย็บเสื้อผ้าก่อนสงกรานต์อันมหาโหดก็จบลงด้วยความเรียบร้อย (รึเปล่า! ไม่แน่ใจ -__-!!!)
สำหรับผู้เขียนแล้วรอดมาได้เพราะโรงงานผ้าหยุดงานไปเรียบร้อยแล้ว ก็เลยมีข้ออ้างในการปฏิเสธลูกค้า อิอิอิ
เล่นเอานอนวันละ 3-4 ชั่วโมงนานติดกันร่วม 2 อาทิตย์เห็นจะได้
(รูปประกอบไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อหาเล้ยยย จริงๆ -__-!!! กลัวอ่านแล้วจะง่วงกันเลยหาภาพมาคั้น แค่นั้นแหละ)
ธุรกิจขายเสื้อผ้าหรือตัดเย็บเสื้อผ้านั้นก็คงเหมือนๆ กับอาชีพหรือสินค้าประเภทอื่นๆ ที่มีจังหวะขึ้นลงๆ ขายดีบ้าง ขายไม่ดีบ้างก็ว่ากันไปตามฤดูขายของสินค้าประเภทนั้นๆ งานขายเสื้อผ้าเองก็มีวงจรการขายเป็นฤดูไม่ต่างกัน
สำหรับพ่อค้าแม่ขายเสื้อผ้าอย่างเราๆ ท่านๆ นั้นการเตรียมการสำหรับฤดูขายเสื้อผ้าเสื้อยืดนั้นก็คงจะเป็นเรื่องที่ปกติไปเสียแล้ว แต่สำหรับเพื่อนๆ ที่กำลังเริ่มขายหรือกำลังคิดจะขายเสื้อผ้านั้นการรู้จักวงจรฤดูการขายของงานเสื้อผ้าก็จะทำให้เพื่อนๆ วางแผนการขายได้ดีขึ้น มีสินค้าขายอย่างต่อเนื่องไม่เสียโอกาสการขาย
สำหรับช่วงฤดูขายเสื้อยืดหรืองานเสื้อผ้าส่วนใหญ่ (เช่น เสื้อยืด เสื้อคอโปโล เสื้อกล้าม หรือเสื้อแฟชั่นอื่นๆ) แล้วจะมี 3 ช่วงเวลาด้วยกันที่ขายดิบขายดีแบบชนิดเทน้ำเทท่า และก็จะส่งผลถึงงานตัดเย็บด้วยเล่นกัน นั่นก็คือช่วงเมษายนก่อนสงกรานต์ ช่วงเทศกาลวันแม่ และช่วงเดือนธันวาคมวันพ่อแห่งชาติ
ส่วนช่วงฤดูที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือฤดูฝนที่การขายเสื้อผ้าจะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดตามพฤติกรรมของผู้บริโภค และก็ส่งผลถึงส่วนตัดเย็บที่น้อยลงตามไปด้วย
หากเพื่อนๆ อยากมีสินค้าไว้ขายช่วงฤดูสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง ก็ควรวางแผนการผลิตตัดเย็บเสื้อผ้าไว้ขายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนเพราะร้านรับตัดเย็บเสื้อยืดส่วนใหญ่จะงานแน่นมากขึ้นตามลำดับก่อนวันสงกรานต์ หากคาดหวังหาร้านตัดเย็บเสื้อยืดในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนใกล้สงกรานต์หรือใกล้ช่วงเทศกาลนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง
ปล* จริงๆ แล้วก็ไม่ตายตัวเสมอไปสำหรับบางท่านก็อาจจะขายเสื้อผ้าได้ดีตลอดปี แต่เชื่อเถอะว่าส่วนใหญ่ก็ใกล้เคียงกับสถิติของผู้เขียน ^_^
ด้วยความเคารพและเป็นห่วงเพื่อนๆ ทุกคน
โอ
บริการรับตัดผ้ายืดสำหรับทำเสื้อยืด
แก้ไขล่าสุด 16/01/2021
ช่วงนี้ทางร้านมีปัญหาด้านกำลังผลิต จึงขออนุญาตปิดรับงานตัดเย็บเสื้อยืดทุกประเภท
——
บริการรับตัดผ้ายืด Cotton, TC, TK หน้าผ้ากว้าง 36 นิ้ว สำหรับทำเสื้อยืดคอกลม คอวี ตามแพทเทิ่นของลูกค้าหรือเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วๆไป โดยเหมาะสำหรับร้านเสื้อที่มีร้านเย็บเสื้อประจำแต่ไม่มีร้านตัดผ้า (หรือร้านโต๊ะตัดงานเยอะตัดไม่ทัน) ก็สามารถใช้บริการตัดผ้าของเราได้ครับ ทั้งนี้ทางร้านเรายังมีบริการทำแพทเทิ่นสำหรับเสื้อผ้าแฟชั่นอีกด้วย (โดยราคาค่าทำแบบแพทเทิ่นนั้นแยกต่างหากไม่รวมกับราคาบริการตัดผ้า)
หรือหากท่านกำลังมองหาโต๊ะตัดผ้าพร้อมทั้งร้านรับเย็บเสื้อยืด โปโล และเสื้อผ้าแฟชั้นในราคาสมเหตุสมผลก็สามารถสอบถามกับทางเราได้ครับ
อยากทำธุรกิจค้าขายเสื้อยืดต้องทำอย่างไรบ้าง
“อยากทำธุรกิจค้าขายเสื้อยืดต้องทำอย่างไรบ้าง?” ได้ยินคำถามนี้ทางโทรศัพท์จากน้องท่านหนึ่ง
ได้แต่ทำตาปริ๊บๆ เพราะเป็นคำถามที่กว้างพอๆกับอ่าวไทย แต่ไหนๆ ถามมาแล้วไม่พูดอะไรสักหน่อยก็ดูจะผิดวิสัยผู้เขียน
จะเรียกว่าตอบ ก็คงจะดูเป็นทางการเกินไปเพราะผู้เขียนก็ไม่ใช่ผู้รู้เลยไม่ค่อยจะรู้ว่าถ้าอยากทำธุรกิจค้าขายเสื้อยืดให้สำเร็จต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้ารู้ผู้เขียนคงรวยไปแล้วหละ! เนาะ 555
เอาเป็นว่าเล่าประสบการณ์สู่กันฟังดีกว่า เพราะผู้เขียนก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นสูตรสำเร็จ!
เอาเป็นว่าประเด็นสำคัญหลักๆ ที่ผู้เขียนอยากจะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังและอยากให้เพื่อนๆ ทำความเข้าใจก็มีอยู่ไม่กี่ข้อ เช่น
1.ให้เริ่มธุรกิจเสื้อผ้าแบบคนจนทุนน้อย ถึงแม้ว่าหลายๆท่านจะมีเงินถุงเงินถังหรือเงินสำหรับลงทุนเยอะแยะก็ตามที ผู้เขียนก็ยังอยากจะให้เพื่อนๆ เริ่มด้วยทุนทรัพย์น้อยๆ ลงทุนด้วยความระมัดระวังเพราะช่วงเริ่มต้นหลายๆ ท่านยังจับกระแส, กลุ่มลูกค้าหรือความต้องการของลูกค้าไม่ได้ ลงทุนเยอะไปก็ทุนจม สู้ลงทุนน้อยๆ ค้าขายอย่างฉลาดอาศัยซื้อมาขายไป จนกว่าจะจับกระแสหรือกลุ่มลูกค้าได้ค่อยลงทุนทีละเยอะๆ ก่อนที่เพื่อนๆ จะพูดกันถึงการผลิตหรือจ้างตัดเย็บเสื้อยืดนั้นควรจะมีตลาดที่แน่นอนก่อน หรือที่กลุ่มลูกค้าชัดเจนอยู่แล้วถึงจะค่อยเริ่มหาจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อเสริมเข้าไปในรายการขายที่มีอยู่แล้ว
2.ช่องทางการขายควรจะมีมากกว่าช่องทางเดียว เช่นเปิดร้านขายควบคู่ไปกับการขายออนไลน์ การค้าในปัจจุบันนั้นไม่ใช่มีเพียงมิติเดียวแต่มีมิติเสมือนที่เราๆ ท่านๆ สร้างกันขึ้นมา นั่นก็คือโลกจริงๆ ตลาดจริงๆ ที่เราค้าขายกันแบบเห็นหน้าและโลกไซเบอร์หรืออินเตอร์เน็ต และหากอยากจะค้าขายให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดเสื้อผ้านั้นก็ต้องรู้จักวางแผนการขายให้ควบคู่กันทั้ง 2 มิติ เพราะทั้ง 2 มิติมักจะอยู่ตรงข้ามกันเสมอ เช่น ฤดูฝนที่ขายในตลาดไม่ค่อยดีเพราะคนไม่ชอบออกบ้านก็จะทำให้ตลาดออนไลน์คึกคักขึ้นมา ในด้านตรงข้ามช่วงฤดูท่องเที่ยวที่ตลาดออนไลน์เป็นช่วงขาลงเพราะผู้ซื้อมักจะนิยมเดินเล่นที่ตลาดมากกว่าที่จะจับเจ่าอยู่หน้าจอคอมเป็นต้น คงจะดีไม่น้อยที่เรามีแผนการขายครบทั้ง 2 มิติ
3. ต้องเข้าใจศักยภาพและรูปแบบการขายในตลาดที่เราพยายามจะสร้างจุดยืนหรือยี่ห้อของเรา เช่น หากยี่ห้อเราถูกสร้างมาเพื่อตลาดระดับล่างที่เน้นปริมาณการขายก็ควรจะขายตลาดระดับล่างที่เน้นปริมาณจึงจะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ หรือตลาดที่ถูกสร้างมาเพื่อตลาดระดับบนที่เน้นเรื่องความพิถีพิถันและเนื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์จำพวก Supersoft ต่างๆนาๆ หรือตลาดระดับกลางที่ราคาพอสมเหตุผลแต่รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยจำพวกเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งก็ต้องดูตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละบุคคล
4. เอิ่มมม! -__-!!! ยังคิดไม่ออก…. ไว้จะมาบอกอีกที 555
ด้วยความเคารพเพื่อนๆ ทุกคน
โอ
ความสำคัญของ Pattern แบบเสื้อกับงานเสื้อผ้าแฟชั่น
ขึ้นชื่อว่าแบบเสื้อนั้นสำหรับงานเสื้อผ้าแล้วถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกผ้าที่มีคุณภาพเลยทีเดียว
แบบโครงเสื้อหรือ Pattern นั้นไม่ใช่แค่การวาดลวดลายบนกระดาษธรรมดาๆ ครับ แต่ Pattern แบบเสื้อนั้นคือการแปลงจากเสื้อผ้าทรงต่างๆ ที่พวกเราใส่อยู่ให้ออกมาเป็นชิ้นส่วนแผนเรียบที่มีทั้งการคำนวณการหดของผ้า, การสูญเสียผ้าจากการเย็บต่างๆ เพื่อให้งานเสื้อที่จะทำออกมาพอดี สวยงามและตรงสรีระกับความตั้งใจของผู้สวมใส่ที่สุด
หากเพื่อนๆ อยากจะทำงานเสื้อผ้าแล้ว (โดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่น) การมีองค์ความรู้ด้านแบบเสื้อหรือ Pattern ไว้บ้างนั้นนั้นก็ดีไม่น้อยครับ นัยว่าเป็นประโยชน์สำหรับการผลิตเสื้อผ้าออกมาจำหน่าย ถึงแม้ว่าร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะมีแบบเสื้อ Pattern ไว้บริการ แต่ก็เป็นแบบเสื้อ Pattern ทั่วๆไปตามท้องตลาด หากต้องการแบบเสื้อที่สวยงามและมีเอกลัษณ์การลงทุนทำแบบเสื้อ Pattern ขึ้นมาเองนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำครับ เพราะการลงทุนสร้างแบบเสื้อ Pattern ขึ้นมานั้นเป็นการสร้างเอกลักษณ์ สร้างลายเซ็นให้กับยี่ห้อของเพื่อนๆ นั่นเอง และหากจะสังเกตดีๆ เสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมักจะมีจุดต่างที่ไม่ซ้ำกันไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งเพราะผู้ผลิตหรือเจ้าของยี่ห้อนั้นๆ พยายามสร้างความต่างและเอกลักษณ์ให้กับยี่ห้อของตนเอง
วิธีเย็บเสื้อยืดคอกลม
การเย็บเสื้อยืดคอกลมนั้นจัดได้ว่าเป็นพื้นฐานของงานเย็บอุตสาหกรรมก็ว่าได้
โดยขั้นแรกหลังจากที่เราตัดผ้าลำตัวด้านหน้า 1 ชิ้น, ลำตัวด้านหลัง 1 ชิ้น, แขน 2 ชิ้นและชิ้นคอ 1 ชิ้นแล้ว
ขั้นที่ 1 คือการเย็บบริเวณไหล่ทั้ง 2 ด้าน, โดยให้ด้านหน้าผ้ากระกบติดกัน
ขั้นที่ 2 นั้นคือการเย็บชิ้นคอ
บางท่านก็เย็บคอเตรียมไว้ก่อน อันนี้แล้วแต่ถนัด หากเป็นงานภาคอุตสาหกรรมที่แข่งกับเวลาจริงๆ ก็ต้องเตรียมชิ้นคอไว้ให้เรียบร้อยเสียก่อนเพื่อความรวมเร็วในการทำงาน ส่วนเรื่องของวัสดุว่าจะใช้อะไรทำชิ้นคอนั้นก็ว่ากันไปตามลักษณะงานว่าจะใช้ผ้าในตัวหรือใช้ซก (ผ้าที่เป็นยืดๆ) ก็ดีกันไปคนละแบบ
เย็บคอติดกับลำตัว
แล้วกลับเสื้อจากด้านในมาด้านนอกเพื่อเตรียมตัวทำงานในขั้นต่อไป
แล้วกลับเสื้อจากด้านในมาด้านนอกเพื่อเตรียมตัวทำงานในขั้นต่อไป
ขั้นที่ 3 : กดเย็บคิ้วรอบคอเพื่อความเรียบร้อยและความคงทน โดยขั้นตอนนี้นั้นบางร้านก็ทำ บางร้านก็ไม่ได้ทำซึ่งก็แล้วแต่จุดประสงค์
โดยขั้นตอนที่ 3 นี้ไม่ตายตัวว่าจะทำก่อนหรือหลังจากการเย็บลาลูกโซ่บริเวษคอ ซึ่งก็ว่ากันไปตามความถนัดและเคยชิน
ตัดเศษด้ายเพื่อความเรียบร้อย
** ค่อยดูเป็นเสื้อขึ้นมาหน่อย -__-!!! **
ขั้นตอนที่ 4 : การเย็บลาลูกโซ่บริเวณคอ ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็แล้วแต่ร้าน เพราะหากต้องการลดต้นทุนก็จะไม่ทำ แต่ส่วนใหญ่ก็ทำเพื่อความสวยงามและเรียบร้อยของงานเย็บ
** เย็บด้วยจักรเข็มคู่ลาลูกโซ หรือสุดแท้แต่จะเรียกกัน (มีหลายชื่อเหลือเกิน -__-!!!)**
** โดยเริ่มเย็บจากตะเข็บไหล่เสื้อด้านหนึ่งผ่านคอด้านหลังจนมาสุดที่ไหล่อีกด้านหนึ่ง **
** แล้วจึงกลับเสื้อเพื่อความเรียบร้อย **
** ค่อยดูเป็นเสื้อขึ้นมาอีกหน่อย **
** การใช้ผ้ามาเย็บบริเวณคอ ลาลูกโซ่นั้นจะเป็นผ้าลักษณะม้วนวนยาวติดกัน โดยการตัดเฉียง **
ขั้นตอนที่ 5 : การเย็บแขนเสื้อทั้ง 2 ข้างติดกับลำตัว
** โดยเริ่มจากการลาแขนเสื้อด้วยการพับปลายแขนแล้วใช้จักรลาโรยหรือลาชาย (สุดแท้แต่จะเรียกเถอะ -__-!!!) **
** เย็บแขนติดกับลำตัวโดยประกบชิ้นแขนเข้ากับส่วนตัวให้ด้านหน้าประกบกับด้านหน้าแล้วจึงทำการเย็บ **
ขั้นตอนที่ 6 : เย็บโพ้งไล่ลงมาตั้งแต่ปลายแขนเสื้อผ่านตะเข็บด้านข้างลงมาจนสุดลำตัว ด้วยจักรโพ้ง
ขั้นตอนที่ 7 : กลับมาที่จักรลาอีกครั้งเพื่อลาชายเสื้อก็เป็นอันจบขั้นตอนการเย็บเสื้อยืดแบบคร่าวๆ
หากมีโอกาสก็คงจะได้ทำเป็นวีดีโอภาพเคลื่อนไหวมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันในโอกาสต่อไปครับ
สำหรับบางท่านที่ชำนาญเป็นอย่างดีแล้วก็คงจะดูเป็นเรื่องเรียบง่าย แต่สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำแต่อยากจะทำงานเย็บเสื้อผ้า ผู้เขียนก็ขอเป็นกำลังใจให้ด้วยใจจริงครับ และก็หวังว่าบทความไม่ค่อยจะได้เรื่องชิ้นนี้จะจุดประกายอะไรได้บ้าง เพราะหากสถานการณ์ภาคแรงงานของอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้ายังเสียสูญอยู่แบบนี้ต่อไปในอนาคตคงนึกไม่ออกว่าจะเป็นยังไง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็ยังต้องใช้ช่างเย็บชาวเวียดนามเป็นแรงงานหลัก
—
นอกเรื่องหน่อยหนึ่ง!
—
แรงงานภาคอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าในปัจจุบัน 2558 ในเขต กทม นั้นกว่าครึ่งเป็นชาวเวียดนามที่มีลักษณะพิเศษคือมีความชำนาญด้านงานเย็บเสื้อผ้าติดตัวมาจากบ้านเกิด โดยเฉพาะชาวเวียดนามที่มีจากภาคกลาง พวกเขามีทั้งความอดทน ความมุ่งมั่น และความอ้อนน้อมถ่อมตนต่างจากชาวพม่าหรือกัมพูชาที่ค่อนข้างรั้นและฉลาดแกมโกง ลักษณะพิเศษของชาวเวียดนามแบบนี้เป็นลักษณะที่ผู้เขียนอิจฉาและเฟ้อฝันว่าชาวไทยเราคงจะมีความสามารถพิเศษแบบนั้นติดตัวไว้ในแต่ละทุกหมู่บ้าน
ด้วยความเคารพเพื่อนๆ ทุกคน
โอ
เลือกซื้อผ้ายืดแถววัดสน (สุขสวัสดิ์ซอย 35)
หากพูดกันถึงเรื่องปัจจัยความสำคัญหลักของธุรกิจเสื้อผ้าแล้วก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเนื้อผ้า ที่เป็นปัจจัยหลักที่บ่งบอกถึงคุณภาพและราคา ซึ่งผ้าเป็นต้นทุนหลักที่มีความสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ หากเพื่อนๆ ที่ทำธุรกิจหรือค้าขายเสื้อผ้าอยู่แล้ว หรืออยากจะทำธุรกิจเสื้อผ้า แล้วต้องการลดต้นทุนเพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันที่ดีขึ้นนั้นการเลือกซื้อผ้าที่เป็นวัตถุดิบหลักด้วยคุณภาพและราคาสมเหตุสมผลถือว่าเป็นข้อสำคัญครับ
แหล่งขายผ้าใน กทม เรานั้นมีอยู่หลายแหล่ง หลายแห่งสถานที่ซึ่งแต่ละที่นั้นขายผ้าต่างชนิดกันออกไป เช่นหากเพื่อนๆ อยากจะได้ผ้าสำหรับทำเสื้อเชิตก็ควรไปพาหุรัต (เขียนถูกไหมเนี่ยะ -__-!!!)
และถ้าหากเพื่อนๆ อยากซื้อผ้ายืดสำหรับตัดเย็บเสื้อยืดหรือเสื้อผ้าลำลองนั้น หนึ่งในสถานที่ที่ผู้เขียนอยากจะแนะนำคือ วัดสนหรือสุขสวัสดิ์ซอย 35 (จริงๆ ก็มีหลายที่แหละ เช่น แถวๆ สะแกงามหรือสุขสวัสดิ์ซอยอื่นๆ) แต่แถวๆ วัดสนนั้นดูจะไปง่ายที่สุดและมีรูปแบบการขายผ้าที่หลากหลาย เช่นบางร้านก็ขายปลีกเป็นกิโลสำหรับทำตัวอย่าง บางร้านก็มีวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานผ้าขายปลีกแยกชิ้น ต่างๆ นาๆ ว่ากันไปกันแต่ละร้าน อันนี้ต้องเดินดูกันเองถึงจะได้ร้านที่ถูกใจ โดยหลักแล้วก็จะขายผ้าคอตต้อนเบอร์ 20, คอตต้อนเบอร์ 32, TC, TK, ผ้ากีฬาตระกูลโพลีต่างๆ, ผ้ายืดคาเนโกะ ต่างๆนาๆ
เพื่อนๆ หลายท่านก็คงจะคุนเคยกับร้านผ้าแถวๆ วัดสนกันดีอยู่แล้วก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก หากแต่เพื่อนๆ ที่กำลังจะไปเลือกซื้อผ้าเพื่อมาทำงานนั้นผู้เขียนก็อยากจะให้เพื่อนๆ เลือกร้านดีๆ ครับจะได้ไม่มีปัญหาทีหลัง
โดยร้านขายผ้าในซอยวัดสน (หรือสุขสวัสดิ์ 35) นั้นมีหลากหลายลักษณะการค้าขายและบริการ อาจจะดูเหมือนกันแต่ก็จะมีความต่างอยู่พอสมควร โดยกว่า 1 ใน 5 ข้างร้านค้าในวัดสนขายผ้าสต๊อกที่โละมาจากโรงงาน, 3 ใน 5 เป็นร้านค้าที่รับผ้ามาจากโรงงานอีกถอดหนึ่ง และจะมีแค่ 1 ใน 5 ของจำนวนร้านขายผ้าในซอยวัดสนเป็นร้านของโรงงานผลิตผ้าโดยตรง ซึ่งข้อแตกต่างเหล่านี้จะทำให้เกิดความแตกต่างด้านราคา, คุณภาพ และความต่อเนื่องของสินค้า
เช่น ถ้าซื้อผ้าจากร้านขายผ้าสต๊อกก็จะได้ราคาถูกลงมาหน่อย แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องสีในครั้งต่อไปเพราะมันจะไม่เหมือนกันอีกแล้ว ประมาณว่าหมดแล้วหมดเลย หากเพื่อนๆ ซื้อเพื่อไปใช้งานครั้งเดียวแล้วจบก็คงไม่ต้องเลือกถามร้านให้วุ่นวาย แต่หากเพื่อนๆ คิดจะทำงานต่อเนื่องก็ควรที่จะใส่ใจร้านผ้าที่เราไปซื้อตั้งแต่แรกเพื่อลดปัญหาความยุ่งยากในอนาคต
หากเพื่อนๆ หาร้านที่เป็นโรงงานผลิตโดยตรงนั้นดูจะยากซักหน่อย (เพราะทุกร้านก็บอกว่าตัวเองเป็นโรงงานผู้ผลิตซะหมด -__-!!! ก็คนเค้าอยากขายนี่เนาะ! ก็พูดหว่านล้อมไปเรื่อยแหละ) แต่ก็ใช่ว่าจะหายากซะทีเดียว โดยส่วนใหญ่แล้วร้านผ้าที่เป็นผู้ผลิตโดยตรงนั้นจะมีเอกลักษณ์หรือเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เช่น Supersoft, dry… (อะไรซักอย่างนี่แหละ จำไม่ได้ ขออภัย) เพื่อสร้างจุดขายให้กับตัวเองและราคาจะดูสมเหตุสมผล ไม่แพงเวอร์และไม่ถูกสัส! ซึ่งกว่าจะรู้ก็ต้องเดินดูและเปรียบเทียบราคาดูครับ
**ปล** หากเพื่อนๆ ท่านไหนที่พึ่งไปครั้งแรกหรือกกำลังจะไป หากไปถึงแล้วให้ตรงเข้าวัดไปจอดรถเลยครับ เสีย 20 บาท จ่ายไปเถอะอย่าเสียดาย เพราะที่จอดรถหายากมว๊วกกกกก! และไม่ต้องกลัวหิ้วไกลเพราะจะมีคนลากมาส่งให้ที่รถ
ด้วยความเคารพและเป็นห่วงเพื่อนๆ ทุกคน
โอ
ข้อดีและข้อเสียของผ้าถุงกลม Body Size และผ้าพับหน้าเดียว
โดยมากผ้ายืดที่ซื้อขายกันในตลาดสำหรับนำมาตัดเย็บทำเสื้อยืดนั้นแบ่งได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือผ้า
- ผ้าพับหน้าเดียว (ซึ่งจะแบ่งย่อยออกเป็นหน้ากว้าง 36, 37, 62 หรือ 74 นิ้วนั้นก็แล้วแต่ลักษณะการใช้งานและความคุ้มทุนของโรงงานที่จะทำออกมา) และ
- คือผ้าถุงกลมแบบพอดีตัวหรือเรียกกันทั่วๆ ไป Body Size ซึ่งหน้ากว้างของผ้าลักษณะนี้จะมีความกว้างตายตัวตามความกว้างรอบอกของเสื้อแต่ละไซร์
โดยผ้าพับสำหรับนำมาทำเสื้อยืดทั้ง 2 ลักษณะนี้ก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป
เช่น
ข้อดีผ้าพับหน้าเดียว คือ สามารถประยุกต์ใช้ได้ง่าย โดยที่ 1 พับนั้นสามารถประยุกต์ตัดไซร์ได้ตามต้องการ หรืองานเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีการตัดต่อลวดลายหลายชิ้น และผ้าพับหน้าเดียวนี้เป็นผ้าที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดและโรงงานส่วนใหญ่ก็ทำออกมาสู่ตลาด ทำให้ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อมาใช้งานตัดเย็บเสื้อยืด
ข้อเสียผ้าพับหน้าเดียว ก็คงจะเป็นเรื่องของเศษผ้าที่เสียไประหว่างตัด
ส่วนผ้าแบบถุงกลม Body Size นั้นก็มีข้อดีคือประหยัดเนื้อผ้า ผ้า 1 พับนั้นก็สามารถที่จะตัดออกมาเป็นจำนวนตัวได้มากกว่าผ้าแบบพับหน้าเดียวเพราะไม่ต้องเสียเศษผ้าจากการตัด ทั้งยังประหยัดด้ายเพราะด้านข้างลำตัวไม่มีตะเข็บ ทั้งลำตัวถูกทอออกมาเป็นกระสอบจากโรงงาน
แต่ข้อเสียคือผ้าแบบถุงกลม Body Size นั้นถูกทำออกมาตายตัวตามลักษณะการใช้งานจึงทำให้การประยุกต์ใช้เพื่อทำเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีการตัดต่อหลากหลายเพื่อความสวยงามนั้น ทำได้ด้วยความลำบาก ทั้งรูปแบบการเย็บนั้นก็ต้องอาศัยความชำนาญที่เพิ่มขึ้นเพราะการเข้าวงแขนจะยากขึ้น จึงต้องอาศัยแรงงานที่มีประสบการณ์
โดยรวมแล้วผ้าแบบถุงกลม Body Size นั้นเหมาะสำหรับงานเสื้อยืดจำนวนมาก หรือห้างร้านที่ขายส่งเสื้อยืดเป็นจำนวนเยอะๆ และเป็นงานลักษณะโหลที่ตายตัว ส่วนคำถามจากเพื่อนๆ ที่ว่าผ้าแบบไหนดีกว่ากันนั้นก็แล้วแต่วัตถุประสงค์และการใช้งานของเพื่อนๆ ครับ
ความแตกต่างของผ้า Cotton 100 เบอร์ 20 และ 32
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเสื้อยืดผ้า Cotton 100% ส่วนใหญ่ในท้องตลาดบ้านเราจะมีอยู่กว่าร้อยละ 80 – 90 จะมีอยู่แค่ 2 เบอร์คือผ้า Cotton เบอร์ 32 และ ผ้า Cotton เบอร์ 20 (สำหรับผ้ายืด จริงๆ แล้วผ้า Cotton มีหลากหลายเบอร์และน้ำหนักมากกว่านี้แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมทำให้การผลิตออกสู่ตลาดน้อยตาม)
ความแตกต่างระหว่าง Cotton เบอร์ 32 และ ผ้า Cotton เบอร์ 20 ที่เป็นเส้นใยธรรมชาติคือความใหญ่ของเส้นด้ายที่ใช้ถักทอออกมาเป็นผืนผ้าสำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อยืดสำหรับขายจำหน่ายเสื้อยืดทั่วไปในท้องตลาด โดยผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 20 จะมีขนาดเส้นด้ายที่ใหญ่กว่าเบอร์ 32 ทำให้องค์รวมของตัวเสื้อดูหนากว่าเล็กน้อย แต่การระบายอากาศและการซับเหงื่อก็ไม่ต่างกัน
การใช้ผ้าผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เส้นใยธรรมชาตินั้นจะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้งานเป็นหลัก เช่นว่าหากต้องการสวมใส่ทั่วๆ ไป ก็ควรจะใช้เบอร์ 32 ซึ่งละเอียดกว่า หรือนำไปปักเพิ่มลวดลายหรือสกรีนนั้นหลายๆท่านก็เลือกที่จะใช้ผ้าผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 20 มากกว่าเพราะความหนาทำให้ทำงานง่ายขึ้น สีสกรีนไม่ทะลุทำให้ไม่เหนียวเหนอะหนะเวลาสวมใส่ หรือเวลาปักแล้วผ้าจะไม่ย่นเพราะเบอร์ 20 หนากว่า เป็นต้นฯ
ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกผ้าใช้ผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 20 หรือ 32 ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งานแต่หากว่าเพื่อนๆ หรือท่านที่ไม่ค่อยจะได้คลุกคลีกับธุรกิจผ้าหรือเสื้อผ้าก็จะดูไม่ค่อยออกว่าอันไหนคือผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 20 หรือ 32 และหากจะให้ผู้เขียนแนะนำเป็นการส่วนตัวคือผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 20 จะดีกว่าผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 32 เพราะการใช้งานที่หลากหลายและง่ายต่อการนำไปประยุกต์หรือต่อยอดเพื่อเพิ่มราคา
หรือหากเพื่อนกำลังหัดเย็บเสื้อยืดอยู่ก็อยากจะแนะนำให้เป็นผ้าคอทต้อนหรือผ้าฝ้าย Cotton เบอร์ 20 เช่นกันเพราะว่าเส้นด้ายที่ใหญ่ ผ้าที่หนากว่าจะทำให้การเย็บง่ายกว่า ทำให้การเรียนรู้ง่ายกว่าการใช้ผ้าบางเย็บ (พวกไม่เย็บผ้าไม่รู้หรอก ผ้าบางเย็บยากขนาดไหน 555 -__-!!! แถมบางแล้วยืดด้วยนะ สุดยอด)
—
ประเภทของจักรเย็บผ้าอุตสาหกรรมที่นิยมใช้ในงานเย็บเสื้อยืด
อย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นอุตสาหกรรมหลัก 1 ใน 4 สิ่งของจำเป็นสำหรับมนุษย์เรา และก็เป็นอุตสาหกรรมหลักอันดับต้นๆ ของประเทศไทยเราด้วยเช่นกัน
ในบรรดาสินค้าหลักๆ ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มนี้ เสื้อยืดก็จัดได้ว่าเป็นสินค้าพื้นฐานที่ถูกผลิตออกมาอย่างมากที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องด้วยความนิยม การใช้งานที่เรียบง่าย ราคาที่เหมาะสม และการต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น การทำให้ดูสวยงามขึ้นด้วยการสกรีน เพ้นท์ลวดลาย หรือปักรูป สัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงทำให้เสื้อยืดจัดได้ว่าเป็น 1 ในสินค้าหลักของกลุ่มอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
หากเพื่อนๆ อยากจะทำธุรกิจหรือการค้า หรือการให้บริการตัดเย็บเสื้อยืดนั้นก็ควรจะต้องศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน เพราะการเปิดร้านให้บริการตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเสื้อยืดนั้นมีรายละเอียดพอสมควร หากเพื่อนๆ ท่านไหนที่ทำเป็นอาชีพอยู่แล้วก็คงจะทราบถึงรายละเอียดต่างๆ เป็นอย่างดี หากท่านไหนที่พึ่งเริ่มต้น ผู้เขียนก็อยากแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวให้เพื่อน ประมาณว่าเล่าสู่กันฟัง เพื่อลดข้อสงสัย ลดปัญหาให้การค้าของเพื่อนๆ ดำเนินไปได้ง่ายขึ้น ไม่มากก็น้อย
สิ่งแรกที่ผู้เขียนอยากจะเล่าให้เพื่อนๆ ฟังก็คือประเภทของจักรอุตสาหกรรมที่ใช้ในงานเย็บเสื้อยืด นั้นหลักๆ มีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1.จักรโพ้ง (หรือพ้ง) คือจักรที่ใช้เย็บด้านข้างของตัวเสื้อ วงแขน และรอบคอ จักรประเภทนี้ใช้งานมากที่สุดถึงร้อยละ 70 – 80 ของการเย็บเสื้อยืด โดยจักรโพ้งเองก็แบ่งได้เป็นหลายแบบอีกเช่นกัน เช่น จักรโพ้ง 3 เส้น, จักรโพ้ง 4 เส้น และจักรโพ้ง 5 เส้น (โพ้ง 1 เส้นก็มีนะ ที่เหลือด้ายขาด ฮ่ะๆ มุขช่างซ่อมจักรที่บ้าน -__-!!!) ค่าตัวจักรประเภทนี้ก็ประมาณ 2 – 3 หมื่นบาทขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อ ซึ่งส่วนใหญ่เสื้อยืดทั่วๆ ไป ใช้จักรโพ้ง 4 เส้น
**
2.จักรลา จะถูกใช้ 2 ลักษณะในการเย็บเสื้อยืด คือ 1. คือลาชายเสื้อและลาแขนเสื้อ หากเพื่อนมีนิสัยช่างสังเกตคงจะเห็นว่าแขนเสื้อหรือชายเสื้อด้านในจะเย็บเป็นแบบซิกแซกๆ ไปมาสลับกันเป็นฟันปลา นั่นเป็นลักษณะการใช้งานแบบหนึ่ง และส่วนแบบที่ 2 ก็คือการปรับลดจำนวนเข็มและปรับแต่งรายละเอียดเล็กน้อยสำหรับการเย็บทับรอยโพ้งบริเวณคอเสื้อ (บางเจ้าก็ทำบางเจ้าก็ไม่ทำ แต่ก็เริ่มจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับเสื้อยืดไปแล้วสำหรับการมีลาลูกโซ่บริเวณคอเสื้อ) ราคาค่าตัวจักรประเภทนี้ก็อยู่ราวๆ 3 หมื่น – 4 หมื่น (ซึ่งก็แล้วแต่รุ่น ยี่ห้ออีกเช่นกัน)
**
**
**
* ลักษณะงานบริเวณชายเสื้อและแขนเสื้อของจักรลา *
* ลักษณะของลาลูกโซ่บริเวณคอเสื้อ (ไม่ได้ตั้งใจโฆษณานะ รูปมันติดมาเอง -__-!!!) *
3.จักรเข็มเดี่ยวที่เป็นมาตรฐานสำหรับงานเย็บ ทั่วๆ ไป แต่สำหรับการเย็บเสื้อยืดในปัจจุบันนั้นจะใช้จักรเข็มเดี่ยวเป็นส่วนน้อย คือใช้หลักจากโพ้งคอแล้วเย็บทับบางช่วง ใช้น้อยมากหรือบางท่านก็ไม่ใช้เลย
**
**
สำหรับเพื่อนๆ ที่อยากจะเริ่มงานเย็บหรืออยากจะเปิดร้านให้บริการตัดๆ เย็บๆ เสื้อผ้าก็อยากจะให้ศึกษารายละเอียดต่างๆ ให้ดีก่อนเริ่มทำครับ เพราะอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้านั้นมีรายละเอียดเยอะพอสมควร เป็นสังคมธุรกิจที่กว้าง (คู่แข่งเยอะ ว่างั้นเถอะ) แต่การเจริญเติบโตนั้นก็ไปกันไม่หยุดครับ บางท่านที่เปิดมานานเป็นที่รู้จักในแวดวงก็มีงานเย็บล้นมือ ทำไม่เคยทัน ไม่เคยพอก็มีให้เห็นกันเต็มตลาดเพราะความต้องการของผู้บริโภคนั้นมีไม่ขาดสายครับ นี่คือข้อดีของธุรกิจในภาคปัจจัย 4
หรือหากเพื่อนๆ ยังไม่พร้อมหรืองานล้นมือ หรือขี้เกียจลงทุนเย็บเอง ผู้เขียนก็มีบริการเย็บเสื้อยืดตัวละ 12-15 บาทครับ โดยคิดราคากันตามแบบสมเหตุสมผลตัวละ 12-15 บาท (ขึ้นอยู่กับรายละเอียดปลีกย่อย) หรือซื้อเป็นเสื้อยืดสีล้วนสำเร็จรูปราคาส่งก็ตัวละ 50 บาทครับ ฮ่ะๆ แอบขายซะเลย ^_^ (หรืออยากจะซื้อจักร ผู้เขียนก็ขายนะ ฮ่ะๆ ซื้อ 2 แถมคนขายด้วยเลยเอ้าาา! -__-!!!)
วิธีตรวจสอบเนื้อผ้าเบื้องต้น
อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็น 1 ในอุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวพันกับปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์เรา จึงเป็นเรื่องปกติที่การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอจะรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการที่เป็นพื้นฐาน (และไม่พื้นฐาน) ของมนุษย์เรา หนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอก็คือการพัฒนาเส้นใย จึงทำให้เส้นใยในการผลิตเสื้อผ้า สิ่งทอในตลาดปัจจุบันนั้นมากประเภทกว่าเดิม ซึ่งแต่เดิมนั้นมีเพียงหลักๆ คือเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย (Cotton) และผ้าจากเส้นใยสังเคราะห์ที่ได้จากการแปรรูปน้ำมัน เช่น ผ้าโพลี (Polyester) กลายมาเป็นเส้นใยผสมต่างๆ นาๆ ที่มีความสลับซับซ้อน
สำหรับผู้เขียนและเพื่อนๆ ที่ทำงานหรือมีอาชีพเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำเสื้อผ้าต่างๆ เช่น ตัดเย็บ สกรีนลวดลาย ปัก หรือแม้แต่การตัด การรู้จักเนื้อผ้าถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเนื่องจากเนื้อผ้าแต่ละชนิดก็ต้องการการปฏิบัติที่ต่างกันออกไป เช่นผ้าไม่ยืดอย่าง Cotton 100% หรือผ้าผสมต่างๆ เนื้อผ้าแบบ TC เนื้อผ้าแบบ TK ซึ่งเนื้อผ้าจะออกยืดๆ เนื่องจากมีส่วนผสมของผ้าใยสังเคราะห์มาปนด้วย หากเพื่อนๆ ที่ไม่ค่อยได้มีโอกาสคลุกคลีกับแวดวงเสื้อผ้าก็คงจะดูลำบากว่าที่คนขายพูดๆ นั่นนะ Cotton แท้รึเปล่า ใส่สบายจริงรึเปล่า (ซึ่งบางคนจะแพ้ใยสังเคราะห์ เช่นผู้เขียนเป็นต้น -__-!!! เป็นโรคคุณหนู)
เพราะขนาดผู้เขียนเองที่คลุกคลีกับธุรกิจเสื้อผ้ามาเป็นเวลาหนึ่งทั้งจากงานประจำและงานอาชีพเสริมก็ยังมีผิดพลาดในเรื่องเนื้อผ้า เพราะเดี๋ยวนี้ตลาดเสื้อผ้าไปไวเหลือเกิน จนบางครั้งต้องจ่ายเงินซื้อของถูกในราคาแพง เกิดความเสียหายในการค้าขึ้นมาได้ เลยเกิดกังวลแทนเพื่อนๆ ที่อยากจะเข้ามาทำธุรกิจการค้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม
เป็นห่วงนะ พูดง่ายๆ!
ไม่อยากให้ถูกเอาเปรียบเหมือนผู้เขียนตอนเริ่มทำการค้าใหม่ๆ!
โดนคนอื่นเอาเปรียบนี่ มันน่าเจ็บใจนะเพื่อนๆ ว่าไหม!
เลยเอาวิธีตรวจสอบผ้าง่ายๆ เบื้องต้นที่ผู้เขียนชอบใช้มาแบ่งปันเพื่อนๆ เผื่อจะพอมีประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย
วิธีที่ผู้เขียนใช้ประจำก็คงจะหนีไม่พ้นการเผาผ้า ฟังไม่ผิดนะ!
เผาผ้าจริงๆ
** ตัดมานิดเดียวพอจะ ไม่ต้องเยอะ ไม่ต้องถึงกับเผาทั้งตัวนะเตง -__-!!! **
** ถ้าไม่รู้จะตัดตรงไหน ก็บริเวณชายเสื้อด้านในละกันเนอะ! **
** เผาผ้าเพื่อดูองค์ประกอบนะ ไม่ใช่เล่นของ ไม่ต้องร่ายมนต์ -__-!!! **
** หากเป็นเส้นใยธรรมชาติ เส้นใยจะเป็นขี้เถ้าสลายได้ กลิ่นคล้ายกับกระดาษ **
การเผาผ้าเพื่อดูขี้เถ้านั้นหลักๆ ก็เพื่อดูว่าผ้าชนิดนั้นเป็นผ้าเส้นใยธรรมชาติ เช่น Cotton 100% หรือว่าใยสังเคราะห์ บางท่านดูชำนาญขนาดรู้อัตราส่วนผสมเลยก็มีนะ เคยเห็นเหมือนกัน ห้องแล็ปพิสูจน์ผ้านี่อายเลยนะ อะไรจะเก่งปานนั้น -__-!!!
(ส่วนผู้เขียนนั้นมือสมัครเล่น ไม่ต้องห่วงเลย -__-!!!)
การเผาเศษผ้าเพื่อดูขี้เถ้าและกลิ่นนั้น ดูง่ายๆ และหลักๆ คือหากผ้าชนิดนั้นเป็นเส้นใยธรรมชาติหรือจำพวกผ้าฝ้าย Cotton จะมีลักษณะขี้เถ้าจะไม่จับตัวเป็นก้อนและกลิ่นจะเหมือนการเผากระดาษ
แต่ถ้าเป็นประเภทเส้นใยสังเคราะห์นั้นขี้เถ้าจะจับตัวเป็นก้อนดำๆ แข็งๆ และกลิ่นจะคล้ายกับการเผาขวดพลาสติก กลิ่นจะแรงจะเบาขึ้นอยู่กับส่วนผสมเส้นใยสังเคราะห์ในผ้าชนิดนั้นๆ
แล้วทำไมต้องมานั่งเผาเล่นให้เสียเวลาหละ?
มันต่างกันตรงไหน?
ต่างกันที่ราคาและคุณสมบัติของเนื้อผ้านั้นแหละครับ
ผ้าเส้นใยสังเคราะห์จะมีราคาถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับผ้าเส้นใยธรรมชาติ
ในธุรกิจการค้าที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด เช่น ธุรกิจเสื้อผ้า การลดต้นทุนได้ถือเป็นสิ่งที่ได้เปรียบคู่แข่งนะครับ
อาจจะแค่ 1 หรือ 2 บาทแต่ก็สำคัญ
ด้วยรักและเคารพเพื่อนๆ ทุกท่าน
โอ