ทำไมขนาดรอบอกขนาดเสื้อแต่ละร้านต่างกัน
นับว่าเป็นปัญหาสามัญประจำบ้านที่ลูกค้าชอบถามผู้เขียน ว่า “ทำไมขนาดรอบอกหรือไซร์เสื้อต่างกัน?” “ทำไมไม่ทำขนาดรอบอกให้เท่ากัน?” จะได้ไม่ปวดหัวหรือสับสนเวลาเปลี่ยนร้าน หรือซื้อสินค้าร้านอื่น!
จริงๆ คำถามนี้ตอบไม่ยากเลย แต่จะให้เข้าใจที่มาและเหตุผลของความต่างนั้นนับว่าปวดหัวพอสมควร 555
โดยปกติธรรมชาติแล้วเหล่าพ่อค้าแม่ขายไม่ได้อยากจะทำให้มีความต่างของขนาดรอบอกสำหรับเสื้อยืดในร้านของตัวเองแม้แต่น้อย หากมีสถาบันกำหนดทิศทางหรือขนาดเลยก็คงจะดี -__-!!! จะว่าไปก็คงทำงานกันง่ายไปอีกแบบ 555
และในความเป็นจริงนั้นพ่อค้าแม่ขายที่ประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่จะสามารถกำหนดขนาดรอบอกเลยก็ว่าได้
ประเภทของเสื้อผ้านับว่าเป็นเหตุผลอันดับต้นๆ เหตุผลหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดขนาดรอบอกให้ต่างกันออกไป เช่น เสื้อกีฬาก็จะตัวใหญ่ไม่นิยมใส่รัดรูป, เสื้อยืดเน้นใส่สบาย, เสื้อยืดเน้นรัดรูป, เสื้อยืดผู้หญิง ประเภทเสื้อผ้าเหล่านี้เป็นเหตุผลหลักในการกำหนดขนาดรอบอกเสื้อทั้งสิ้น
ตลาดหรือความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ก็มีความสำคัญเช่นกัน หากกลุ่มลูกค้าหลักของท่านเป็นเด็กก็ต้องมีขนาดเล็กและอัตราส่วนขยายก็ต้องขึ้นไปทีละนิดตามความต้องการลูกค้า, กลุ่มคนทำงานที่เน้นดูดีพอดีตัวจึงไม่สามารถทำส่วนขยายให้กระโดดไปหลายนิ้วได้, กลุ่มวัยรุ่นที่นิยมเสื้อแบบ oversize เน้นตัวใหญ่ใส่เท่ก็ชอบรอบอกไซร์เสื้อแบบห่าง เป็นต้น เหตุผลเหล่านี้เป็นตัวกำหนดรอบอกที่แตกต่างกัน
เหตุผลจากฝั่งการผลิตหรือเบื้องหลังก็มีน้ำหนักไม่น้อย!
ขนาดความกว้างหน้าผ้าก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งในท้องขนาดนั้นมีความกว้างหน้าผ้าแตกต่างกันออกไป เช่น ผ้าหน้ากว้าง 72 นิ้ว, ผ้าถุงอบกลมความกว้างหน้าผ้า 36 นิ้ว, ผ้าหน้ากว้างแบบ Bodysize ขนาดพอดีตัว 16, 18, 20, 22 และ 24 นิ้วสำหรับทำเสื้อยืด เป็นต้น ความกว้างหน้าผ้าที่แตกต่างกันเหล่านี้เกิดจากชนิดเส้นด้ายละเครื่องจักรทอผ้าที่ต่างกัน ความกว้างหน้าผ้าเหล่านี้มีจุดคุ้มทุนและอัตราศูนย์เสียที่ต่างกัน ส่งผลให้ผู้ผลิตในกระบวนการต่อเนื่องต้องปรับเปลี่ยนตามเพื่อให้มีความศูนย์เสียน้อยที่สุด
ช่างเย็บผ้าตัดเย็บเสื้อยืด หรือความชำนาญของช่างเย็บผ้า ผู้ซึ่งทำหน้าที่ประกอบชิ้นผ้าจากชิ้นผ้าเรียบๆ ขึ้นมาเป็นตัว เป็นรูปร่างเสื้อยืดหรือเสื้อผ้าแฟชั่นต่างๆ นั้นก็นับว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่กำหนดขนาดรอบอกหรือไซร์ของเสื้อยืด ถึงมีน้ำหนักไม่มากแต่ก็มีส่วนในองค์ประกอบการตัดสินใจ อย่างที่เราท่านเห็นในปัจจุบันไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน งานอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากว่าร้อยละ 80 ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้แรงคนเป็นหลัก (เทคโนโลยีมีมากขึ้นแต่ราคายังแพงอยู่ ทั้งเทคโนโลยีที่มีปัจจุบันคือการทำงานแยกส่วน ยังไม่เบ็ดเสร็จแบบระบบสายพาน) และหากจะลงไปในรายละเอียดแล้วเสื้อ 1 ตัว ต้องใช้ช่างเย็บทำงานหลายตำแหน่ง โดยในระบบอุตสาหกรรมเพื่อลดต้นทุนแล้วนั้น ช่างเย็บจะทำหน้าที่อย่างเดียวเพื่อความชำนาญสูงสุด เช่น ช่างโพ้งก็จะโพ้งด้านข้างอย่างเดียวเมื่อเสร็จแล้วก็ส่งชิ้นงานไปยังช่างคนถัดไป ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเสื้อผ้าประเภทนั้นจะเป็นอะไร เสื้อยืด, เสื้อโปโล หรือเสื้อผ้าแฟชั่น
และมีบ่อยครั้งที่ช่างเย็บไม่สามารถทำงานอื่นหรือไม่ถนัดงานที่มีความต่างได้ เช่น ช่างเย็บบางบ้านไม่สามารถเย็บลาลูกโซ่บริเวณไหลในผ้าพอดีตัวแบบ bodysize ที่ทอมาไม่ให้มีตะเข็บด้านข้างเพราะต้องยกตีนผีขึ้นลงบ่อย ดึงเข้าดึงออกทำให้จักรเย็บผ้ารวนง่าย, หรือช่างเย็บที่ใช้จักรเย็บเข็มเดี่ยวไม่ถนัดจักรแบบสอยซ่อนด้าย ส่งผลสืบเนื่องให้ผู้ที่ป้อนงานจำเป็นต้องจัดหาวัสดุต่างๆ ให้สอดคล้องตามความสามารถของช่างเย็บผ้า ซึ่งบางครั้งหมายถึงการเปลี่ยนขนาดความกว้างหน้าผ้าในการทำงาน และแน่นอนว่าหากเปลี่ยนความกว้างหน้าผ้าก็จำเป็นต้องทำขนาดไซร์ให้มีจุดคุ้มทุนดีที่สุดและอัตราศูนย์เสียน้อยที่สุด และนำมาสู่ความต่างของขนาดรอบอกแต่ละร้านได้เช่นกัน
“จะขายเสื้อยืดแบบไหนก็ต้องตามใจคนซื้อ จะใช้ผ้าแบบไหนก็ว่ากันไปกับโรงงาน จะผลิตเสื้อผ้าแบบไหนก็ต้องดูฝีมือช่าง” นี่คือวิธีคิดหลักๆ ที่นำมาซึ่งความต่างของขนาดรอบอกแต่ละร้าน 555
—
—